Rákosi, Mátyás (1892-1971)

นายมาตยาช ราโคซี (พ.ศ. ๒๔๓๕-๒๕๑๔)

 มาตยาช ราโคชีเป็นนายกรัฐมนตรีฮังการีระหว่าง ค.ศ. ๑๙๕๒-๑๙๕๓ และเป็นผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ฮังการีระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๕-๑๙๕๖ เขาสนับสนุนนโยบายปฏิรูปประเทศตามแบบสหภาพโซเวียตและยึดแผนเศรษฐกิจ ๕ ปี (Five Year Plan)* ของสหภาพโซเวียตเป็นแม่แบบในการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของฮังการี ราโคซีจงรักภักดีและนิยมยกย่องโจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin)* ผู้นำสหภาพโซเวียตอย่างมากจนได้ชื่อว่าเป็น “สาวกชาวฮังการีที่ดีที่สุดของสตาลิน” (Stalin’s best Hungarian disciple) ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๕๓-๑๙๕๕ ราโคชีมีความคิดเห็นขัดแย้งกับ อิมเร นอจ (Imre Nagy)* นายกรัฐมนตรีเพราะเขาต่อต้านนโยบายปฏิรูปของนอจที่เรียกว่า “แนวทางใหม่” (New Course) ซึ่งเน้นการสร้างความเป็นประชาธิปไตยทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ราโคชีจึงกล่าวหานอจว่าเป็นพวกนิยมลัทธิตีโต (Titoism) เพื่อโค่นอำนาจเขา นีกีตา ครุชชอฟ (Nikita Khruschev)* ผู้นำสหภาพโซเวียตคนใหม่ก็สนับสนุนราโคชีให้เป็นผู้นำแทนนอจ ในกลาง ค.ศ. ๑๙๕๕ นอจจึงถูกปลดออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีราโคชีกลับมามีอำนาจโดยเป็นผู้นำฮังการีอีกครั้ง

 ราโคชีเกิดในครอบครัวยิวที่มีฐานะปานกลางที่หมู่บ้านอาดา (Ada) ในเมืองบาช [(Báes) ปัจจุบันคือ เมืองวอยวอดีนา (Vojvodina) ในเซอร์เบีย] ในจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (Austro-Hungarian Empire)* เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๙๒ บิดาและมารดาทำธุรกิจขายของชำในหมู่บ้าน เมื่อมีฐานะมั่นคงขึ้น ครอบครัวก็ย้ายมาอยู่ที่กรุงบูดาเปสต์ (Budapest) และยังคงทำธุรกิจขายของชำราโคชีซึ่งชื่อเดิมว่า มาตยาช โรเชนครันซ์ (Mátyás Rosen-krantz) ตามสำเนียงเซอร์เบียจึงเปลี่ยนชื่อเป็นมาตยาช ราโคชี เขาเป็นบุตรชายคนที่ ๔ และมีพี่น้องชายหญิงอีก ๖ คนแต่พี่น้องเสียชีวิตในวัยเยาว์รวม ๓ คน ราโคชีสำเร็จการศึกษาระดับต้นที่โรงเรียนในหมู่บ้านและไปเรียนต่อระดับปลายที่กรุงบูดาเปสต์ เขาเป็นคนใฝ่รู้ ฉลาดเฉลียวชอบอ่านหนังสือและมีทักษะด้านภาษาต่างประเทศโดยสามารถพูดได้ถึง ๘ ภาษา ใน ค.ศ. ๑๙๑๐ เขาเรียนต่อระดับสูงที่สถาบันการพาณิชย์เคเลติ (Keleti Commercial Academy) และได้รับปริญญาบัตรใน ค.ศ. ๑๙๒๑ ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๒-๑๙๑๔ เขาได้รับเลือกให้ไปฝึกงานกับบริษัทการค้าระหว่างประเทศที่เมืองอัมบูร์ก (Hamburg) และกรุงลอนดอนตามลำดับ ในช่วงที่ทำงานในเยอรมนี ราโคชีสนใจแนวความคิดสังคมนิยมและมีโอกาสเข้าร่วมการชุมนุมและกิจกรรมของพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันหรือพรรคเอสพีดี (German Social Democratic Party-SPD)* เขาจึงเข้าเป็นสมาชิกพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันซึ่งได้ชื่อว่าเป็นพรรคการเมืองแนวทางสังคมนิยมที่เข้มแข็งที่สุดในยุโรป และเป็นแกนนำของพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย อื่น ๆ ในองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๒ (Second International)* ความศรัทธาในอุดมการณ์ลัทธิมากซ์ (Marxism)* ทำให้ราโคชีประกาศเลิกนับถือศาสนา เมื่อกลับมากรุงบูดาเปสต์ในต้นฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. ๑๙๑๔ เขาเข้าร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายหัวรุนแรงที่เรียกร้องให้ฮังการีแยกตัวออกจากจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี

 เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* เกิดขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๑๔ ราโคชีถูกเกณฑ์เป็นทหารในกองทัพออสเตรีย-ฮังการี และร่วมต่อสู้ในแนวรบด้านตะวันออกแถบกาลิเซีย (Galicia)* ในต้น ค.ศ. ๑๙๑๕ เขาถูกกองทัพรัสเซียจับเป็นเชลยสงคราม และระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๖-๑๙๑๗ ถูกส่งไปจำคุกที่ไซบีเรียในรัสเซีย เขามีโอกาสรู้จักนักปฏิวัติลัทธิมากซ์ชาวรัสเซียหลายคนในคุกและถูกโน้มน้าวให้ยอมรับอุดมการณ์ปฏิวัติของพรรคบอลเชวิค (Bolshevik)* ราโคชีจึงตัดสินใจเป็นคอมมิวนิสต์ ต่อมาเมื่อวลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin)* ผู้นำพรรคบอลเชวิคสามารถยึดอำนาจทางการเมืองในรัสเซียได้สำเร็จในการปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ รัสเซียจึงถอนตัวออกจากสงครามในต้น ค.ศ. ๑๙๑๘ ด้วยการยอมลงนามในสนธิสัญญาเบรสด์-ลิตอฟสค์ (Treaty of Brest-Litovsk)* กับเยอรมนีซึ่งทำให้รัสเซียสูญเสียดินแดนและพลเมืองเป็นจำนวนมาก หลังการลงนามในสนธิสัญญาเบรสต์-ลิตอฟสค์ รัฐบาลโซเวียตปล่อยตัวเชลยสงคราม ราโคชีจึงได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคบอลเชวิคและเป็นทหารในกองทัพแดง (Red Army)* ในช่วงปลายสงคราม ฮังการีซึ่งเป็นพันธมิตรกับฝ่ายมหาอำนาจกลาง (Central Powers)* พยายามเจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตรเพื่อแยกทำสนธิสัญญาสันติภาพแต่ประสบความล้มเหลว ในระหว่างที่ฮังการีกำลังเจรจาเรื่องสันติภาพอยู่นั้น รัฐบาลโซเวียตสนับสนุนให้เชลยสงครามชาวฮังการีที่ฝักใฝ่ในลัทธิคอมมิวนิสต์ร่วมมือกับปัญญาชนคอมมิวนิสต์ ฮังการีจัดตั้งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ฮังการีขึ้นอย่างไม่เป็นทางการที่กรุงมอสโกเมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๘ ราโคชี นอจ และเบลา คุน (Bela Kun)* ได้ร่วมอยู่ในคณะกรรมการกลางพรรคที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นด้วย ในกลางเดือนพฤศจิกายน สหภาพโซเวียตส่งเบลา คุนและเหล่าปัญญาชนคอมมิวนิสต์ฮังการีคนอื่น ๆ กลับประเทศเพื่อเคลื่อนไหวโค่นล้มรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยฮังการีที่มีมิฮาลี คารอลยี (Mihály Károlyi)* เป็นประธานาธิบดีเมื่อมีการจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ฮังการีขึ้นได้สำเร็จเมื่อ วันที่ ๒๐ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ พรรคคอมมิวนิสต์ฮังการีก็เคลื่อนไหวปลุกระดมมวลชนต่อต้านรัฐบาลและรณรงค์หาสมาชิก ราโคชีซึ่งเดินทางกลับประเทศในปลาย ค.ศ. ๑๙๑๘ ก็เข้าร่วมในพรรคคอมมิวนิสต์และได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการกองกำลังเรดการ์ด (Red Guard) ของพรรค ต่อมาในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๙ พรรคสังคมประชาธิปไตย (Social Democrat Party) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านก็ร่วมมือกับพรรคคอมมิวนิสต์ฮังการีกดดันให้ประธานาธิบดีคารอลยีซึ่งล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาการเมืองและเศรษฐกิจลาออกและจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ขึ้นบริหารประเทศ พรรคสังคมประชาธิปไตยและพรรคคอมมิวนิสต์ฮังการีจึงรวมตัวกันเป็นพรรคการเมืองเดียวเรียกชื่อว่าพรรคสหแรงงานฮังการี (United Workers Party of Hungary) และประกาศเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นสาธารณรัฐโซเวียตฮังการี (Hungarian Soviet Republic)* เมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๙ ราโคชีได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการผลิตสังคมนิยม (Commissar for Socialist Production)

 ราโคชีประกาศยึดที่ธรณีสงฆ์และที่ดินขนาดใหญ่และขนาดกลางของเอกชนมาเป็นของรัฐและใช้นโยบายระบบการรวมอำนาจการผลิตแบบนารวม (collectivization) เพื่อเร่งรัดการผลิตและการพัฒนาเกษตรกรรมให้เป็นระบบเศรษฐกิจสังคมนิยม เขายังบังคับชาวนาให้เข้าร่วมในระบบนารวม (collective farm) และนารัฐ (state farm) และใช้ระบบคอมมิวนิสต์ยามสงคราม (War Communism)* ตามแบบสหภาพโซเวียตเพื่อบังคับเกณฑ์ผลผลิตส่วนเกินทางการเกษตรเป็นของรัฐ อย่างไรก็ตาม ความไม่สันทัดในด้านการบริหารจัดการและการขาดนโยบายที่ชัดเจนในแนวทางการปฏิรูปที่ดินก็ทำให้การสร้างระบบเศรษฐกิจสังคมนิยมของราโคชีประสบความล้มเหลว รัฐบาลคอมมิวนิสต์ซึ่งมีเบลา คุนเป็นผู้นำยังล้มเหลวในด้านนโยบายต่างประเทศเพราะนานาประเทศปฏิเสธที่จะให้การรับรองสถานภาพของรัฐบาลอังการี ฝ่ายสัมพันธมิตรจึงสนับสนุนให้โรมาเนียและเชโกสโลวะเกียเข้ายึดครองดินแดนของฮังการี สหภาพโซเวียตซึ่งกำลังเผชิญกับปัญหาสงครามกลางเมืองรัสเซีย (Russian Civil War ค.ศ. ๑๙๑๘-๑๙๒๑)* ภายในประเทศจึงไม่อาจส่งกำลังมาช่วยฮังการีได้ พลเรือเอก นีโคเลาส์ มิคโลช ฮอร์ที เด นอจบานยา (Nikólaus Mikloś Horthy de Nagybanya)* ผู้นำกลุ่มทหารและกลุ่มการเมืองอนุรักษนิยมจึงเห็นเป็นโอกาสรวบรวมกำลังจัดตั้งเป็นกองทัพขึ้นและสามารถโค่นอำนาจรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ได้สำเร็จในต้นเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๙ ราโคชีและแกนนำคอมมิวนิสต์คนอื่น ๆ หลบหนีไปอยู่ที่กรุงเวียนนาและพยายามจัดตั้งขบวนการคอมมิวนิสต์ขึ้นอีกครั้งหนึ่งแต่ประสบความล้มเหลว ราโคชีถูกจับคุมขังช่วงระยะหนึ่งจนถึงกลาง ค.ศ. ๑๙๒๐ เขาจึงได้รับการปล่อยตัวและถูกเนรเทศออกนอกประเทศ เขาเดินทางไปสหภาพโซเวียตและทำงานสังกัดแผนกบริหารงานต่างประเทศในองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓ (Third International)* หรือองค์การโคมินเทิร์น (Comintern)* ใน ค.ศ. ๑๙๒๑ สตาลินสนับสนุนเขาให้เป็นเลขาธิการขององค์การโคมินเทิร์น ใน ค.ศ. ๑๙๒๔ องค์การโคมินเทิร์นส่งราโคชีกลับเข้าฮังการีเพื่อให้จัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ฮังการีขึ้นอีกครั้งหนึ่งและให้เคลื่อนไหวแทรกซึมในสหภาพแรงงานและองค์การต่าง ๆ ที่มีผู้สนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ ในกลาง ค.ศ. ๑๙๒๕ เขาสามารถจัดการประชุมใหญ่และประกาศตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ขึ้นได้สำเร็จและได้รับเลือกเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์คนแรกของฮังการีความสำเร็จของการจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ฮังการีทำให้องค์การโคมินเทิร์นแต่งตั้งเขาเป็นผู้แทนไปร่วมประชุมและเข้าร่วมกิจกรรมระหว่างประเทศในส่วนที่โคมินเทิร์นรับผิดชอบทั้งให้ดูแลฝ่ายงานของคอมมิวนิสต์อิตาลีในโคมินเทิร์น ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๒๕ หน่วยงานความมั่นคงฮังการีสามารถจับกุมราโคชีได้และกล่าวหาเขาว่าดำเนินการเคลื่อนไหวที่เป็นภัยต่อสังคมและมุ่งโค่นล้มรัฐบาล ราโคชีซึ่งหวังจะได้รับการลดหย่อนโทษยอมร่วมมือกับตำรวจด้วยการเปิดเผยรายชื่อสมาชิกพรรคจำนวนหนึ่งรวมทั้งแผนการดำเนินงานบางส่วนของโคมินเทิร์น เขาจึงถูกโคมินเทิร์นพักงานที่รับผิดชอบทั้งหมด ใน ค.ศ. ๑๙๒๗ ราโคชีถูกตัดสินจำคุก ๘ ปีครึ่งด้วยข้อหาก่ออาชญากรรมต่อสังคม หลังพ้นโทษใน ค.ศ. ๑๙๓๕ ราโคชีก็ถูกจับอีกครั้งหนึ่งด้วยข้อหามีส่วนเกี่ยวข้องกับการยึดอำนาจทางการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์ฮังการีย้อนหลังไปใน ค.ศ. ๑๙๑๙ และเข่นฆ่าสังหารเจ้าหน้าที่ของรัฐในช่วงการครองอำนาจ ๑๓๓ วันของสาธารณรัฐโซเวียตฮังการี เขาถูกตัดสินประหารชีวิตแต่การเคลื่อนไหวคัดค้านคำพิพากษาของปัญญาชนฝ่ายซ้ายทั่วยุโรปมีส่วนทำให้เขารอดชีวิตและได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิต

 เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* เกิดขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๓๙ ฮังการีดำเนินนโยบายเป็นกลางแต่เอนเอียงเข้ากับมหาอำนาจอักษะ ทั้งสนับสนุนสหภาพโซเวียตในการเข้าครอบครองโปแลนด์ตะวันออกและยูเครนใน ค.ศ. ๑๙๔๐ พลเรือเอก นิโคเลาส์ ฮอร์ทีผู้สำเร็จราชการแผ่นดินฮังการีได้เจรจาหารือกับสหภาพโซเวียตเพื่อขอคืนธงชาติปฏิวัติของฮังการีที่รัสเซียยึดไปในช่วงสงครามกอบกู้เอกราชฮังการีที่เมืองวิลากัช (Világas) ใน ค.ศ. ๑๘๔๙ สหภาพโซเวียตยอมคืนธงชาติปฏิวัติฮังการีซึ่งเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์สงครามโดยแลกเปลี่ยนกับการปล่อยตัวราโคชี และแกนนำคอมมิวนิสต์ฮังการีอีกหลายคนในปลาย ค.ศ. ๑๙๔๐ ราโคชีเดินทางไปสหภาพโซเวียตและถูกไต่สวนลับเกี่ยวกับคำให้การของเขาใน ค.ศ. ๑๙๒๕ อย่างไรก็ตามการที่เขาเคยถูกพิจารณาคดีทางการเมือง ๒ ครั้งและถูกตัดสินจำคุกยาวนานทำให้ราโคชีมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและยอมรับในขบวนการคอมมิวนิสต์สากล ทั้งสตาลินก็สนับสนุนเขา ราโคชีจึงได้รับการกู้เกียรติกลับคืน ใน ค.ศ. ๑๙๔๒ เขาก็ได้รับการสนับสนุนจากสตาลินให้กลับคืนสู่อำนาจในตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ฮังการีอีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ เขายังเป็นผู้แทนของพรรคคอมมิวนิสต์ฮังการีในองค์การโคมินเทิร์นและหลัง ค.ศ. ๑๙๔๓ เป็นบรรณาธิการบริหารสถานีวิทยุกระจายเสียงคอชุท (Kossuth Radio station) ที่กรุงมอสโก

 ในปลายสงครามโลกครั้งที่ ๒ ราโคชีติดตามกองทัพแดงเข้าปลดปล่อยฮังการีจากการยึดครองของเยอรมนีและเดินทางถึงกรุงบูดาเปสต์เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ค.ศ. ๑๙๔๔ เขาได้รับคำสั่งจากโคมินเทิร์นให้เดินทางไปเมืองเดเบรตเซน (Debrecen) ซึ่งเป็นที่ตั้งของรัฐบาลเฉพาะกาลของฮังการีเพื่อจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ขึ้นและเตรียมการทางการเมืองเพื่อลงแข่งขันในการเลือกตั้งทั่วไปหลังสงคราม เขาจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ฮังการีขึ้นได้สำเร็จ และส่งสมาชิกพรรคเข้าแทรกซึมและควบคุมองค์การและหน่วยงานสำคัญต่าง ๆ ของรัฐได้เกือบหมด ความสำเร็จดังกล่าวทำให้ราโคชีได้รับแต่งตั้งเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ฮังการีเมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๔๔ โดยควบคุมคณะกรรมาธิการกลางพรรคทั้งที่เดเบรตเซนและบูดาเปสต์ ราโคชีซึ่งได้รับการสนับสนุนทั้งจากสหภาพโซเวียตและกองทัพแดงอยู่เบื้องหลังยังสามารถจัดตั้ง “ศาลประชาชน” (peoples’ courts) ขึ้นในปลายเดือนกุมภาพันธ์เพื่อพิจารณาคดีทางการเมืองฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อพรรคคอมมิวนิสต์และพวกที่ต้องการให้ฮังการีกลับไปสู่สภาพเดิมก่อน ค.ศ. ๑๙๔๔ ประมาณว่ามีประชาชนจำนวนกว่า ๑๕๐,๐๐๐ คนถูกจับกุมคุมขังและถูกทรมานรวมทั้งถูกเนรเทศไปไซบีเรีย

 อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๔ พรรคคอมมิวนิสต์ก็ได้คะแนนเสียงเพียงร้อยละ ๑๗ ในขณะที่พรรคสมอลล์โฮลเดอร์ (Smallholder Party) ซึ่งเป็นพรรคที่มีนโยบายสายกลางและเป็นที่นิยมของประชาชนมาตั้งแต่ก่อนสงครามได้เสียงค่อนข้างมาก พรรคสมอลล์โฮลเดอร์จึงเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับพรรคสังคมประชาธิปไตย (Social Democrat Party) และพรรคคอมมิวนิสต์ขึ้นปกครองประเทศแต่รัฐบาลผสมก็บริหารงานเพียงเวลาอันสั้นเพราะพรรคคอมมิวนิสต์มักต่อต้านแนวนโยบายจนในท้ายที่สุดรัฐบาลต้องลาออก หลังการเลือกตั้งทั่วไปใน ค.ศ. ๑๙๔๗ พรรคคอมมิวนิสต์ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลและราโคชีได้รับแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรี เขาเริ่มกวาดล้างกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามที่ต่อต้านทั้งสหภาพโซเวียตและพรรคคอมมิวนิสต์ฮังการีด้วยการประยุกต์ใช้วิธีการที่เรียกว่า “กลยุทธ์ซาลามี” (salami tactics) โดยสร้างความแตกร้าวภายในพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามและระหว่างพรรคการเมืองคู่แข่งกับพรรคการเมืองอื่น ๆ รวมทั้งทำลายอิทธิพลของพรรคการเมืองนั้น ๆ วิธีการดังกล่าวเป็นเสมือนการตัดซาลามืออกเป็นชิ้น ๆ ในขณะเดียวกันราโคชีก็นำแผนเศรษฐกิจ ๕ ปีของสหภาพโซเวียตมาประยุกต์ใช้และบังคับชาวนาให้เข้าร่วมในระบบการผลิตแบบนารวมและให้ขายผลผลิตแก่รัฐในราคาตํ่านโยบายดังกล่าวนำไปสู่ภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจเพราะชาวนาต่อต้านและเกิดปัญหาความอดอยากและขาดแคลนอาหารในชนบท

 ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๘ ราโคชีบีบบังคับให้พรรคสังคมประชาธิปไตยรวมเข้ากับพรรคคอมมิวนิสต์และใช้ชื่อว่าพรรคแรงงานสังคมนิยมฮังการี (Hungarian Socialist Workers Party-HSWP) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าพรรคสหแรงงาน (United Workers Party) ราโคชีดำรงตำแหน่งเลขาธิการและระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๘-๑๙๔๙ เขาดำเนินการทำให้พรรคแรงงานสังคมนิยมฮังการีเป็นพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวที่มีอำนาจมากที่สุดทั้งเขาก็เป็นผู้ปกครองที่มีอำนาจสูงสุด เขาสั่งกวาดล้างและจับกุมกลุ่มการเมืองและปัญญาชนฝ่ายตรงข้ามด้วยข้อหาเป็นศัตรูของประชาชนและพรรค ประมาณว่าระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๙-๑๙๔๓ ประชาชนและสมาชิกพรรคที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายปกครองของเขากว่า ๓๕๐,๐๐๐ คนถูกกวาดล้างและคุมขังทั้งหายสาบสูญ ใน ค.ศ. ๑๙๔๙ ราโคชียังดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐซึ่งทำให้เขามีอำนาจอย่างไร้ขอบเขตในการกวาดล้างศัตรูทางการเมืองและฝ่ายตรงข้าม เขายึดแนวทางการบริหารปกครองประเทศของใจเชฟ สตาลิน ผู้นำสหภาพโซเวียตเป็นแม่แบบทุกด้านเขาจึงได้ชื่อว่าเป็น “ศิษย์ที่ดีที่สุดของสตาลิน” และเป็น “สาวกชาวฮังการีที่ดีที่สุดของสตาลิน”

 อย่างไรก็ตาม อิมเร นอจ นายกรัฐมนตรีไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามของราโคชีและต่อต้านนโยบายเศรษฐกิจแบบโซเวียต นอจต้องการให้สร้างรัฐสวัสดิการแก่ชาวนาและให้ชาวนามีอิสระที่จะเข้าร่วมในระบบการผลิตแบบนารวมและอื่น ๆ ราโคชีจึงโน้มน้าวให้โปลิตบูโรขับนอจออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและการเป็นสมาชิกโปลิตบูโร ราโคชีได้เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (๑๔ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๕๒ - ๔ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๕๓) แทนนอจ ในช่วงการมีอำนาจ ราโคชีสนับสนุนการสร้างลัทธิบูชาบุคคล (Cult of Personality)* เพื่อให้ผู้นำมีสถานภาพเป็นเหมือนพระเป็นเจ้าและส่งเสริมการยกย่องเชิดชูสตาลินในรูปแบบต่าง ๆ นอกจากนี้ ราโคชียังมีโทรเลขถึงสตาลินสมํ่าเสมอเพื่อแจ้งข่าวเรื่องสำคัญ ๆ ที่เขาดำเนินการโดยเฉพาะเรื่องนโยบายต่างประเทศและเรื่องการกวาดล้าง (purges) สมาชิกพรรคที่เอนเอียงสนับสนุนยอซีป บรอชหรือตีโต (Josip Broz; Tito)* ผู้นำยูโกสลาเวีย เขายังมีโอกาสพบและแลกเปลี่ยนความเห็นกับสตาลินในโอกาสต่าง ๆ ไม่น้อยกว่า ๖ ครั้ง แม้สตาลินจะไว้วางใจราโคชีแต่ก็เห็นว่าราโคชีบางครั้งก็ดำเนินนโยบายที่ไม่รอบคอบ โดยเฉพาะการกวาดล้างสมาชิกพรรคและการเร่งรัดการพัฒนาเศรษฐกิจที่เน้นอุตสาหกรรมหนักมากไปซึ่งจะเป็นผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจฮังการีในระยะยาว

 หลังอสัญกรรมของโจเชฟ สตาลินในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๕๓ มีการเปลี่ยนแปลงระบบการบริหารในพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตและเกออร์กี มัคซีมีเลียโนวิช มาเลนคอฟ (Georgi Maksimilianovich Malenkov)* เลขาธิการคนที่ ๒ ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี การก้าวสู่อำนาจของมาเลนคอฟมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในฮังการีด้วย มาเลนคอฟ ซึ่งคุ้นเคยกับอิมเร นอจมาก่อนจึงสนับสนุนนอจให้เป็นนายกรัฐมนตรีแทนราโคชีซึ่งถูกกดดันให้ลาออกในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๕๓ แต่ก็ยังคงดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคนอจเสนอนโยบายปฏิรูปประเทศให้เป็นประชาธิปไตยทางด้านต่าง ๆ และยกเลิกมาตรการลงโทษที่ทำรุณของตำรวจลับและยุบเลิกค่ายกักกันแรงงาน ตลอดจนสนับสนุนการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเบาเพื่อเพิ่มผลผลิตสินค้าเพื่อการบริโภคมากขึ้นและให้ชะลอการพัฒนาอุตสาหกรรมหนัก เขายังปรับนโยบายต่างประเทศจากการปฏิบัติตามคำสั่งของสหภาพโซเวียตอย่างเคร่งครัดมาเป็นการดำเนินนโยบายที่เน้นผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญโดยใช้หลักการการยอมรับอำนาจอธิปไตย ความเสมอภาค และการไม่แทรกแซงกิจการภายในตลอดจนการหลีกเลี่ยงที่จะสังกัดทั้งค่ายคอมมิวนิสต์ และค่ายประชาธิปไตย

 การปฏิรูปทางการเมืองของนอจทำให้ราโคชีไม่พอใจอย่างมาก เขาต่อต้านและพยายามขัดขวางนโยบายปฏิรูปทั้งกล่าวหานอจว่าเป็นผู้มุ่งทำลายความมั่นคงของพรรคและท้าทายอำนาจของสหภาพโซเวียต ต่อมาในต้นเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๕๓ คณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งส่วนใหญ่สนับสนุนราโคชีมีมติประณามนอจว่าเป็น “พวกนิยมขวา” (rightist deviation) และพวกนิยมลัทธิตีโตราโคชียังใช้กลไกอำนาจรัฐที่มีอยู่ปลุกระดมสร้างกระแสโจมตีนอจอย่างรุนแรงโดยกล่าวหาเขาว่ามีส่วนทำลายความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสร้างความด่างพร้อยแก่พรรคในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตในการแย่งชิงอำนาจทางการเมืองระหว่างมาเลนคอฟกับนีกีตา ครุชชอฟ เลขาธิการพรรคคนที่ ๑ ยุติลงโดยครุชชอฟสามารถบีบบังคับให้มาเลนคอฟลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้สำเร็จ ครุชชอฟ จึงสนับสนุนราโคชีให้เป็นผู้นำประเทศแทนนอจ ในกลางเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๕๕ ราโคชีใช้รัฐสภาเป็นเครื่องมือในการปลดนอจออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สมาชิกโปลิตบูโรและคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ แม้ราโคชีจะไม่ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่เขาก็มีอำนาจเข้มแข็งมากขึ้นและนำประเทศกลับไปสู่การบริหารปกครองในระบอบลัทธิสตาลิน (Stalinism)* อีกครั้งหนึ่ง

 อย่างไรก็ตาม เมื่อครุชชอฟเริ่มนโยบายการล้มล้างอิทธิพลสตาลิน (De-Stalinization)* ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๕๖ ทั้งในสหภาพโซเวียตและในกลุ่มประเทศบริวารโซเวียต (Soviet Bloc) เพื่อกำจัดกลุ่มนิยมสตาลินและทำลายระบอบลัทธิสตาลิน นโยบายดังกล่าวทำให้ราโคชีซึ่งนิยมสตาลินถูกกดดันให้ปรับนโยบายการปกครองที่เข้มงวดให้ผ่อนคลายลง แต่การผ่อนคลายดังกล่าวกลับทำให้การเคลื่อนไหวเรียกร้องการปฏิรูปขยายตัวอย่างกว้างขวางมากขึ้น ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๕๖ ราโคชีประกาศดำเนินการกวาดล้างสมาชิกพรรคหัวปฏิรูปรวม ๔๐๐ คนซึ่งรวมทั้งนอจด้วยข้อหาต่อต้านพรรคและบ่อนทำลายความมั่นคงของประเทศ ปัญญาชนและนักเขียนจึงรวมตัวกันเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลในช่วงเวลาเดียวกัน คนงานกว่า ๕๐,๐๐๐ คนที่เมืองพอซนาน (Poznań) ประเทศโปแลนด์ก็ก่อการจลาจลขึ้นเพื่อเรียกร้องให้ปรับปรุงค่าแรงและการมีเสรีภาพทางการเมืองและสังคม สหภาพโซเวียตซึ่งเกรงว่าเหตุการณ์ในโปแลนด์จะมีผลต่อการเคลื่อนไหวในฮังการีจึงส่งผู้แทนมาเจรจากับราโคชีเพื่อบีบให้เขาลาออก เขาพยายามต่อต้านแต่ล้มเหลวและคณะกรรมาธิการกลางพรรคมีมติให้ปลดราโคชีออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรคและสมาชิกโปลิตบูโร ราโคชีพยายามใช้อิทธิพลที่มีอยู่ให้ได้รับเลือกเป็นสมาชิกโปลิตบูโรอีกครั้งหนึ่ง แต่ล้มเหลว เขาจึงยอมลาออกโดยอ้างปัญหาสุขภาพและเดินทางไปรักษาตัวและพำนักที่กรุงมอสโก

 ก่อนสละอำนาจ ราโคชีได้แต่งตั้งเอร์เนอ เกเรอ (Ernö Gerö) สหายสนิทให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคสืบแทน แต่การเปลี่ยนแปลงผู้นำดังกล่าวก็ไม่ทำให้ประชาชนพอใจเพราะเห็นว่าราโคชียังคงมีอิทธิพลอยู่เบื้องหลัง การเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลจึงยังคงดำเนินต่อไปและทวีความรุนแรงมากขึ้นจนรัฐบาลชองเกเรอไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ คณะกรรมการกลางพรรคจึงมีมติให้นอจกลับเข้าเป็นสมาชิกพรรคและคณะกรรมการกลางพรรคอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๕๖ และขณะเดียวกันก็มีมติให้กู้เกียรติทางสังคมคืนแก่ลาซโล รอย์ค (László Rajk)* ดเยอร์ดี ปาล์ฟฟี (Gyorgy Palffy) ทีบอร์ เซินยี (Tibor Szönyi) และอันดราช ซาลอย (András Szalai) แกนนำพรรคคอมมิวนิสต์ฮังการีคนสำคัญที่เคยต่อต้านสตาลินและถูกราโคชีสั่งจับกุมและประหารด้วยข้อหาทรยศ

 เมื่อเกิดเหตุการณ์การลุกฮือของชาวฮังการี (Hungarian Uprising)* ขึ้นในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๕๖ เกเรอไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้และถูกถอดจากตำแหน่งเลขาธิการพรรค ยานอช คาดาร์ (János Kádár)* คอมมิวนิสต์สายกลางที่ครุชชอฟสนับสนุนได้ดำรงตำแหน่งแทนและอิมเร นอจกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง นอจประกาศนิรโทษกรรมแก่นักโทษการเมืองและให้ปล่อยตัวคาร์ดินัลโยเซฟ มีนด์เชนตี (Joseph Mindszenty)* ที่ถูกราโคชีสั่งคุมขังตลอดชีวิต นอกจากนั้น เขายังประกาศนโยบายความเป็นกลางของประเทศทั้งยังเรียกร้องให้องค์การสหประชาชาติ (United Nations)* เข้าแทรกแซงในกรณีที่ฮังการีเกิดความขัดแย้งกับสหภาพโซเวียต ในช่วงความวุ่นวายทางการเมืองดังกล่าว ราโคชีติดต่อทั้งครุชชอฟและคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ฮังการีเพื่อขอกลับประเทศมาช่วยแก้ไขสถานการณ์แต่ไม่ประสบความสำเร็จ

 หลังการลุกฮือของชาวฮังการี ยานอช คาดาร์ซึ่งสหภาพโซเวียตสนับสนุนได้เป็นผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ฮังการีและเป็นนายกรัฐมนตรี คาดาร์จัดประชุมคณะกรรมการกลางพรรค ๒ ครั้งเพื่อพิจารณาข้อเรียกร้องของราโคชีที่ต้องการกลับประเทศ ที่ประชุมคณะกรรมการกลางพรรคมีมติห้ามเขากลับประเทศเป็นเวลา ๕ ปี และให้มีการพิจารณาข้อเรียกร้องอีกครั้งหลังเงื่อนไขเวลาที่กำหนดสิ้นสุดลง ต่อมาในกลางเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๖๒ คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ฮังการีมีมติปลดราโคชีจากการเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ฮังการี ราโคชีและครอบครัวซึ่งพักอยู่ที่กรุงมอสโกในเวลาต่อมาก็ย้ายไปอยู่ที่เมืองครัสโนดาร์ (Krasnodar) และเมืองต็อกมาก (Tokmak) ในสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตคีร์กิซ (Kirgiz Soviet Socialist Republic) ตามลำดับ ในปลายทศวรรษ ๑๙๖๐ เขากลับมาอยู่ที่เมืองกอร์กี (Gorky) ซึ่งห่างจากกรุงมอสโก ๓๕ กิโลเมตรเป็นการถาวร ต่อมา ใน ค.ศ. ๑๙๗๐ คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ฮังการีมีมติให้ราโคชีกลับประเทศได้โดยมีเงื่อนไขว่าต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมือง ราโคชีปฏิเสธเงื่อนไขดังกล่าวและยังคงดำเนินชีวิตอย่างสมถะที่เมืองกอร์กี

 มาตยาช ราโคชีถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๗๑ ขณะอายุ ๗๙ ปี มีการนำเถ้าอัฐิของเขากลับมาฮังการีเมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ และบรรจุไว้ที่สุสานฟาร์คัสเรต (Farkasrét) ในกรุงบูดาเปสต์.



คำตั้ง
Rákosi, Mátyás
คำเทียบ
นายมาตยาช ราโคซี
คำสำคัญ
- กลยุทธ์ซาลามี
- กลุ่มประเทศบริวารโซเวียต
- กองกำลังเรดการ์ด
- กองทัพแดง
- การปฏิวัติเดือนตุลาคม
- การล้มล้างอิทธิพลสตาลิน
- การลุกฮือของชาวฮังการี
- เกเรอ, เอร์เนอ
- คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ
- ครุชชอฟ, นีกีตา
- คาดาร์, ยานอช
- ค่ายกักกัน
- ค่ายกักกันแรงงาน
- คารอลยี, มิฮาลี
- คุน, เบลา
- โคมินเทิร์น
- เชโกสโลวะเกีย
- ซาลอย, อันดราช
- เซินยี, ทีบอร์
- ตีโต
- นอจ, อิมเร
- นอจบานยา, พลเรือเอก นีโคเลาส์ มิคโลช ฮอร์ที เด
- บอลเชวิค
- พรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต
- พรรคบอลเชวิค
- พรรคแรงงาน
- พรรคแรงงานสังคมนิยมฮังการี
- พรรคสมอลล์โฮลเดอร์
- พรรคสหแรงงาน
- พรรคสหแรงงานฮังการี
- พรรคสังคมประชาธิปไตย
- มหาอำนาจกลาง
- มหาอำนาจอักษะ
- มาเลนคอฟ, เกออร์กี มัคซีมีเลียโนวิช
- มีนด์เชนตี, คาร์ดินัลโยเซฟ
- ยูโกสลาเวีย
- ยูเครน
- รอย์ค, ลาซโล
- ระบบคอมมิวนิสต์ยามสงคราม
- ระบบนารวม
- ราโคชี, มาตยาช
- โรเชนครันซ์, มาตยาช
- โรมาเนีย
- ลัทธิตีโต
- ลัทธิบูชาบุคคล
- ลัทธิมากซ์
- ลัทธิสตาลิน
- ศาลประชาชน
- สงครามกลางเมืองรัสเซีย
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สหประชาชาติ
- องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๒
- องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓
- องค์การโคมินเทิร์น
- ออสเตรีย-ฮังการี
- ฮอร์ที เด นอจบานยา, พลเรือเอก นีโคเลาส์ มิคโลช
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1892-1971
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๓๕-๒๕๑๔
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-